วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

คนเราตายได้กี่วิธี "ประวัติศาสตร์ความตาย"

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11517 มติชนรายวัน


คนเราตายได้กี่วิธี "ประวัติศาสตร์ความตาย"


โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com



นานมากแล้ว ร่วมๆ 40 ปีนั่นละครับ หนังสือชื่อ "คนเราตายได้กี่วิธี" เดินออกมาเยี่ยมกรายผู้คนบนแผงหนังสือ ผู้เขียนคือ นพ.เสนอ อินทรสุขศรี

ชื่อ นี้คนที่อ่านหนังสือหนังหาสมัยก่อน น้อยคนจะไม่รู้จัก คุณหมอเป็นนักเขียน ที่เขียนคอลัมน์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร มีหนังสือออกมาเป็นเล่มๆ มากมายนัก

ท่านมีคุณูปการต่อคนไทยทั้งปวงในฐานะนายแพทย์ผู้ทำ เรื่องยากทางการแพทย์ให้เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับคนทั่วไป อันเป็นหัวใจสำคัญของการสาธารณสุขพื้นฐาน

ที่สำคัญท่านเขียน หนังสือสนุกอย่างยิ่ง อย่างเช่น "คนเราตายได้กี่วิธี" ที่ท่านเขียน เปี่ยมด้วยอารมณ์ขันทั้งที่เป็นเรื่องความตาย และว่าไปแล้วความตายไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่อ่านแล้วเพลิน และได้ความรู้ไปด้วย

ถ้าใครรู้ถึงขั้นปลงอนิจจังได้ก็ยิ่งประเสริฐ เพราะสำหรับเรื่องของความตายแล้ว...ใครปลงไม่ได้ก็จมกับมันไปตลอดชีวิต เท่ากับตกนรกทั้งเป็น

ความจริงไม่ว่าใครเกิดมาก็ต้องตายกันทั้งนั้น แต่หลายคนก็กลัวตายยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น แม้ความตายจะเป็นของธรรมดาอย่างยิ่งของสรรพชีวิต ขนาดสิ่งไม่มีชีวิต กรวดหินดินทรายก็ยังมีวันเสื่อมสลายเลย นับประสาอะไรกับชีวิตคน

ว่าไปแล้วความตายก็คือเพื่อนสนิทที่เคียงข้างอยู่ทางซ้ายของเราตลอดเวลานั่นเอง เผลอเมื่อไรมันตบหัวเราลงไปด่าวดิ้นเลยทีเดียว

แต่นอกจาก คุณหมอเสนอ อินทรสุขศรี แล้ว จะมีใครสักกี่คนที่สงสัยว่า "คนเราตายได้กี่วิธี"

ก็ คงมีเยอะอยู่หรอกครับ แต่ที่ถึงขั้นอดรนทนไม่ไหว ใช้เวลาเป็นสิบปี ค้นคว้าสถิติการตายรูปแบบต่างๆ ประดามี แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเล่มเขื่องอย่างหนังสือเล่มที่ชื่อว่า "ประวัติศาสตร์ของความตาย" ที่แปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ "Final Exists : The Illustrate Encyclopedia Of How We Die" ของ Michael Largo

มันคือ สารานุกรมประกอบภาพความตายไล่เรียงลำดับตามตัวอักษรจาก A-Z เล่มนี้ คัดสรรวิธีสุดสามัญที่ทำให้คนตายมานำเสนอ เป็นวิธีตายจากของจริงที่มีบันทึกเป็นหลักฐานเก็บไว้

ลาร์โก ใช้เวลากว่าสิบปีเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มนี้ แล้วกลั่นมันออกมาด้วยลีลาแสบๆ คันๆ ปนอารมณ์ขัน ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับการเล่นกับความตาย แม้มันจะเป็นข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้

เพราะสังคมปัจจุบันที่เรารับ รู้วิธีการฆ่าตัวตายมากมายหลายวิธีจนถึงระดับวิจิตรพิสดาร ทำให้ขยาดกับการบอกความจริงกับคนถึงวิธีตายที่มีมากมายก่ายกองเกินพรรณนา

กระทั่งการสะอึกก็คร่าชีวิตคนไปเป็นพันคนมาแล้ว

เจตนาของลาร์โกก็คงตรงกับหลักของศาสนาพุทธที่ว่า "จงยังชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท" โดยใส่อารมณ์ขันเข้าไป

อ่านๆ ไปแล้วน่าจะเข้าถึง "ความตาย" ได้ว่าเป็นของธรรมด๊าธรรมดา

เคยสงสัยมั้ยครับว่า ระหว่างไม้จิ้มฟันกับสายฟ้าอย่างไหนทำให้คนตายได้มากกว่ากัน

เชื่อหรือไม่ว่า แต่ละปีมีคนตายในสวนสนุกมากกว่าหนึ่งหมื่นคน

และ หมากฝรั่งทำให้คนตายได้...เรื่องนี้คงพอจะรู้กันอยู่บ้าง แต่หนึ่งในคนที่ตายเพราะหมากฝรั่งติดคอคือ นายจอห์น บี. เคอร์ติส ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหมากฝรั่งขึ้นมานั่นเอง

ฯลฯ

ขอให้คิดเหมือน อย่างที่ "ฟรีดิช นิทเช่" ว่าไว้ "ความตายเฉียดใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวต่อชีวิต" (สำนวนแปล นพดล เวชสวัสดิ์)

ไม่ต้องหวาดกลัวก็จริงอยู่หรอก แต่อย่าไปตายแทนไอ้พวกที่ปลุกเร้าให้เราไปตายแทนเขาก็แล้วกัน

และคำเตือนสุดท้าย....หลงตัวเองจนตายก็มีด้วยนะครับ


หน้า 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น