วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์

ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์

วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 06:00

มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์

บัณฑิตปริญญาโทมหิดล พบเทคนิคใหม่กำจัดแผลเป็นชนิดปูดโปน หรือที่เรียกกันว่าแผลคีลอยด์ได้สำเร็จ ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุกรรม
นส.พันธกานต์ ทิศอุ่น บัณฑิตปริญญาโท สาขาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พัฒนาเทคนิคใหม่รักษาแผลเป็นรอยนูน (คีลอยด์) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ โดยรอยแผลเป็นดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขด้วยการผ่าตัด และยิ่งผ่าตัดยิ่งขยายรอยแผลให้ใหญ่ขึ้น

 แผลคีลอยด์ คือแผลเป็นที่มีเนื้อมาปิดบาดแผลมากเกินไป ทำให้แผลเป็นมีลักษณะปูดโปนเป็นก้อนนูนแข็งขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นทั่วไป เป็นผลจากคลอลาเจนสร้างเซลล์เส้นใยมากผิดปกติ การเกิดแผลลักษณะดังกล่าวได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ตลอดจนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมักพบภายหลังการผ่าตัด เช่น หลังผ่าตัดไส้ติ่ง หลังผ่าตัดคลอดลูก หลังผ่าตัดช่องท้อง ผู้ที่เป็นแผลคีลอยด์จะเกิดอาการเจ็บๆ คันๆ
 
"วิธีการรักษาแผลคีลอยด์โดยทั่วไป แพทย์จะผ่าตัดบาดแผลเอาชิ้นเนื้อคีลอยด์ออก แต่ยิ่งตัดก็ยิ่งปูดโปนออกมา จึงไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต้นตอ ส่วนการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์อาจส่งผลอันตรายต่ออวัยวะอื่น" นักวิจัยกล่าว

 ทีมวิจัยได้ประยุกต์เทคนิคการแทรกแซงอาร์เอ็นเอ (RNAi) ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมการแสดงออก หรือยับยั้งความผิดปกติของเซลล์ในระดับยีน โดยสร้างอาร์เอ็นเอสายคู่นำเข้าสู่เซลล์ เพื่อทำปฏิกิริยาชักนำให้เกิดการสลาย หรือยับยั้งการแสดงออกของยีนที่ผิดปกติ โดยมุ่งเป้าไปที่โปรตีนผลิตคอลลาเจนที่ผิดปกติ จนสร้างให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์

 จากการทดลองร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ โดยนำชิ้นเนื้อแผลคีลอยด์มาเพาะเลี้ยงจนเกิดการสร้างเส้นใย แล้วสร้างอาร์เอ็นเอสายคู่ที่มีความจำเพาะกับคอลลาเจนนำไปทดสอบ พบสามารถสลายยีนได้จำเพาะเจาะจง โดยระดับการอยู่รอดของเซลล์สร้างเส้นใยคอลลาเจน ลดต่ำลง 70-80% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เทคนิคแทรกแซงอาร์เอ็นเอ

 "เทคนิคดังกล่าวสามารถทำให้เซลล์ตาย และลดความรุนแรงของแผลปูดโปนได้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคเพื่อใช้รักษาแผลคีลอยด์ หรือ Fibrotic disease ที่เกิดจากการสร้างคอลลาเจน หรือพังผืดมากผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด และไต"

 อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่ายังต้องศึกษาวิจัยระดับลึกมากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้ เทคโนโลยีแทรกแซงอาร์เอ็นเอยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ยับยั้งยีนที่ไม่ต้องการ อาทิเช่น ยีนผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง และยีนของเชื้อก่อโรคอื่นด้วย

 ผลงานวิจัยเรื่องการยับยั้งการผลิตคอลลาเจนในเซลล์สร้างเส้นใยจากแผลคีลอยด์ โดยใช้การแทรกแซงอาร์เอ็นเอ ผ่านการพิจารณาให้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาชีวภาพความพร้อมของการดูดซึมและนำไปใช้ และผลในการยับยั้งการอักเสบและภาวะดื้อต่ออินซูลินของสารแซนโธนจากมังคุดในเซลล์ไขมันมนุษย์ โดย ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต โภชนศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20090717/60984/มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์.html

--
  ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://ilaw.or.th
http://www.pnac-th.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.oknation.net/blog/roungkaw
http://www.oknation.net/blog/pacm/2009
http://dbd-52.hi5.com
http://www.thaisara.com

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คาร์บอนเครดิต เงินจากฟ้า ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11467 มติชนรายวัน


คาร์บอนเครดิต เงินจากฟ้า ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย


โดย ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)




การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนนั้น เป็นที่ทราบกันว่ามีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยมาจากกิจกรรมของมนุษย์สู่บรรยากาศมากขึ้น การแก้ปัญหาหรือยับยั้งไม่ให้วิกฤตภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจึงต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากโลก ซึ่งหลักการนี้เป็นที่มาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาที่ให้สัตยาบันต้องดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยร้อยละ 5 ของที่ปล่อยในปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) โดยให้ประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แบบสมัครใจและเมื่อลดได้เท่าใดก็สามารถขายให้ประเทศพัฒนาซึ่งมีพันธกรณีที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเครดิตนำไปหักลบกับส่วนที่ตัวเองต้องลดตามที่ถูกกำหนดข้างต้นได้ นับเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างความหยืดหยุ่นให้ประเทศพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายและเป็นแรงจูงใจให้ประเทศกำลังพัฒนาช่วยลดก๊าซดังกล่าวบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย สิ่งที่มีการซื้อขายกันนี้จึงเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e/yr) และก่อให้เกิดการซื้อขายกันกว้างขวางขึ้นเป็นตลาดสินค้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ตลาดคาร์บอน" ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่านับแสนล้านเหรียญสหรัฐ

"คาร์บอนเครดิต" เป็นสินค้าใหม่ของสังคมโลก ดังนั้น การซื้อขายสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่น่าเชื่อถือและโดยผู้ที่น่าเชื่อถือในการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกและการยืนยันว่ามีการดำเนินการได้จริง ซึ่งพิธีสารเกียวโตกำหนดกลไกนี้ไว้เรียกว่า "กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)" และด้วยหลักการทั้งหมดข้างต้น โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดซึ่งจะพัฒนาไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตนั้น ต้องเข้าข่ายกฎเกณฑ์ต่อไปนี้คือ 1.การดำเนินโครงการมีลักษณะสมัครใจไม่มีข้อบังคับที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก 2.โครงการไม่ใช่กิจการที่ดำเนินงานตามปกติ แต่เป็นการดำเนินโครงการด้วยแรงจูงใจจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Additionality : Not Business as Usual) 3.โครงการเข้าข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับของประเทศเจ้าบ้านที่โครงการตั้งอยู่ และ 4.มีการรับรองและยืนยันโดยกลไกของหน่วยงานของสหประชาชาติ (CDM EB : CDM Executive Board)

สำหรับโครงการที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงการ CDM นั้น พิธีสารเกียวโตกำหนดไว้ 15 ประเภทเช่น อุตสาหกรรมพลังงานซึ่งรวมถึงการจัดการประหยัดพลังงานด้วย อุตสาหกรรมอื่น (ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) การจัดการสารทำละลาย กิจกรรมเหมืองแร่ กิจกรรมการขนส่ง การจัดการของเสีย กิจกรรมการเกษตร และการจัดการป่าไม้ (การปลูกป่า) เป็นต้น กล่าวคือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจด้วยว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไรมีกี่ชนิด ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดแต่พิธีสารเกียวโตกำหนดไว้ 6 ชนิดที่จะสามารถนำมาเข้ากลไกเพื่อพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดและสามารถลดก๊าซเหล่านี้ได้จากกิจกรรมข้างต้น การพัฒนาโครงการ CDM มีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1.ผู้ดำเนินโครงการต้องแจ้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ให้ทราบอย่างเป็นทางการก่อนเริ่มดำเนินงานหรือเริ่มไปแล้วไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเป็นหน่วยงานของประเทศเจ้าบ้านที่รับผิดชอบตามพิธีสารเกียวโต

2.ผู้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำรายงานการออกแบบโครงการ ซึ่งเป็นการศึกษาคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก และการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอื่นๆ

3.เอกสารรายงาน PDD ต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง โดยหน่วยงานสากลที่ขึ้นทะเบียนกับสหประชาชาติหรือ CDM EB ซึ่งเรียกหน่วยงานนี้ว่า Designated Operational Entity (DOE) ปัจจุบันยังไม่มีองค์กร/บริษัทไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

4.ในขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินโครงการต้องจัดเตรียมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) พร้อมกับการประเมินดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria : SDC) ตามแนวทางที่ อบก.กำหนดไว้ แล้วส่งเอกสารทั้งรายงาน PDD และ IEE/SDC ให้ อบก.พิจารณาเพื่อให้การรับรอง ซึ่ง อบก.จะออกหนังสือรับรอง (Letter of Approval : LoA) ให้สำหรับดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

5.เมื่อผู้ดำเนินโครงการได้รับการรับรองจาก DOE และ อบก.แล้ว จึงจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนโครงการที่ CDM EB ได้ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

6.เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ดำเนินโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการ ให้เริ่มดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการดำเนินงานและก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการตรวจยืนยัน (Verification) ว่ามีการดำเนินโครงการจริง ลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามที่ระบุในเอกสาร PDD

7.ผู้ดำเนินโครงการจะต้องให้หน่วยงาน DOE เป็นผู้ตรวจยืนยันการดำเนินโครงการ ซึ่งเมื่อ DOE ให้การรับรองยืนยันปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว จะเสนอให้ CDM EB พิจารณาให้การรับรองขั้นสุดท้าย โดย CDM EB จะให้การรับรองเป็น CERs (Certified Emission Reduction) ซึ่งก็คือ "คาร์บอนเครดิต" เมื่อขายให้รัฐบาลประเทศพัฒนาหรือบริษัทในประเทศพัฒนาที่มีพันธกรณีที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในทางปฏิบัตินั้น มักทำสัญญาซื้อขายกันตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่ราคาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับการต่อรองและความเสี่ยงของผู้ซื้อ ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิต ประมาณ ?12.8 ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นนั้น ผู้พัฒนาโครงการจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณ 4-8 ล้านบาทต่อโครงการ แต่ก็มีวิธีรวมโครงการเล็กหลายโครงการเข้าด้วยกันเพื่อแบ่งค่าใช้จ่ายให้แต่ละรายลดน้อยลงได้ซึ่งก็มีกฎกติกากำหนดไว้เช่นกัน

คำถามที่มีมามากจากประชาชนทั่วไปคือการพัฒนาโครงการ CDM ภาคป่าไม้ ซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร ป่าไม้หรือการปลูกป่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจึงเข้าข่ายโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดที่จะพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ แต่เนื่องจากมีผู้ประกอบการในบางประเทศมีเจตนาบุกรุกทำลายป่าเพื่อที่จะนำพื้นที่มาปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิต จึงมีกฎเหล็กของสหประชาชาติสำหรับโครงการประเภทนี้คือ 1.กรณีที่เป็นโครงการฟื้นฟูป่า หรือปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนั้น ต้องพิสูจน์ว่าพื้นที่ที่เสนอเป็นโครงการ CDM ไม่ได้เป็นป่าเมื่อปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) และ 2.กรณีที่เป็นโครงการปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน ต้องพิสูจน์ว่า 50 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ที่เสนอมานั้นไม่เคยเป็นป่า และการที่จะบอกได้ว่าเคยเป็นป่าหรือไม่ก็ต้องเปรียบเทียบกับนิยามป่าไม้ของโครงการ CDM คือ ในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ ถ้ามีใบไม้ปกคลุมเกินร้อยละ 30 หรือมีต้นไม้สูงเกิน 3 เมตร ก็จะถือว่าพื้นที่นั้นเป็นป่าอยู่แล้วไม่สามารนำมาพัฒนาเป็นโครงการ CDM ได้ กล่าวคือ พื้นที่ที่จะปลูกป่าเพื่อพัฒนามาขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น ในปัจจุบัน (ขณะที่เสนอโครงการ) จะต้องมีใบปกคลุมในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ไม่เกินร้อยละ 30 และมีต้นไม้สูงไม่เกิน 3 เมตร ป่าไม้สามารดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1-6 ตันต่อไร่ หรือมากกว่า ขึ้นกับชนิดของพันธุ์ไม้ ป่าชายเลนจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบก 3-4 เท่า การพัฒนาโครงการ CDM ป่าไม้อาจต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างสูงจึงจะคุ้มทุน มีการตรวจยืนยันทุก 5 ปี การปลูกป่าในพื้นที่ขนาดเล็กหรือมีต้นไม้สูงเกิน 3 เมตรแล้วหรือเป็นพื้นที่สวนป่านั้นมักไม่ผ่านเงื่อนไขข้างต้น จึงนิยมขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจที่ไม่มีกฎเกณฑ์ดังกล่าว แต่ก็มีมาตรฐานที่ใช้ในการรับรองโครงการเช่นกันขึ้นกับผู้ซื้อว่าจะใช้มาตรฐานใดและตลาดสมัครใจมีราคาค่อนข้างต่ำกว่ามาก ซึ่งจะได้นำมาเล่าให้ทราบในตอนต่อไป


หน้า 9
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way02020852&sectionid=0137&day=2009-08-02
                           

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.narit.or.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.momypedia.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://icann-ncuc.ning.com
http://www.webmaster.or.th
http://weblogcamp2009.blogspot.com

กว่าจะเป็น "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด"

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4127  ประชาชาติธุรกิจ


กว่าจะเป็น "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด"


รายงาน




คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้กระเป๋าสตางค์ของหลายๆ คนเต็มไปด้วยสมาร์ทการ์ดหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ ทั้งบัตรประชาชน บัตรเครดิต บัตรโดยสาร รถไฟฟ้า แม้แต่บัตรพนักงาน บัตรนักศึกษา บัตรเอทีเอ็ม ของหลายๆ คนก็ฝังชิปอัจฉริยะที่ช่วยอัพเกรดบัตรพลาสติกธรรมดาๆ ให้กลายเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้สารพัดอย่าง

เมื่อชิปตัวเล็กๆ ที่ถูกฝังอยู่ในบัตรคือหัวใจสำคัญของความเป็นสมาร์ทการ์ด วันนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" จะพาไปดูต้นกำเนิดของชิปตัวเล็กๆ ตัวนี้ ที่โรงงานของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในสาขาของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี โดยเริ่มมีต้นกำเนิดจากบริษัท ฟิลิปส์ เซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก และในปีที่แล้วมี ยอดขาย 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในประเทศไทยได้มาตั้งโรงงานและดำเนินกิจการ 35 ปีแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นโรงงานประกอบและทดสอบที่ใหญ่สุดของเอ็นเอ็กซ์พี ผลิตชิปแต่ละปีกว่า 10 ล้านชิ้น สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสารและการระบุเอกลักษณ์ตัวตน (identification applications) ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ผลิตชิปสำหรับบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดให้คนไทยได้ใช้กัน

สำหรับโรงงานของเอ็นเอ็กซ์พีในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่แยกหลักสี่ เป็นโรงงานที่ผลิตตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้พนักงานกว่า 3,200 คน ปฏิบัติงานสับเปลี่ยนกันไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะทำในห้องที่ไร้ฝุ่น ปลอดจากกระแสแม่เหล็กทุกชิ้น ทุกคนที่จะเข้าไปในห้องนี้ต้องใส่ชุดหมีคลุมตั้งแต่ หัวจรดเท้า ที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษที่ไม่นำกระแสไฟฟ้าและแม่เหล็ก พร้อมใส่หน้ากากและรองเท้าหุ้มข้อชนิดพิเศษเช่นกัน ซึ่งก่อนจะเข้าสู่ห้องที่ปฏิบัติงาน ทุกคนต้องเข้าไปในห้องเป่าลมไล่ฝุ่นละอองออกจากตัวให้หมด เพื่อไม่ให้เศษฝุ่นผงเข้าไปทำอันตรายกับชิปตัวเล็กๆ ที่เป็นหัวใจของสมาร์ทการ์ด และแน่นอนที่สุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เต็มไปด้วยกระแสไฟและ แม่เหล็กอย่างโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งต้องห้ามในกระบวนการผลิตนี้

ขั้นตอนการผลิตของโรงงานแห่งนี้คือจะรับแผ่นไอซีที่ผลิตจากโรงงานในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ซึ่งผลิตออกมาเป็นแผงขนาดใหญ่รวมไอซีเป็นร้อยเป็นพันตัวไว้ใน 1 แผ่น ที่เรียกว่า "แผ่นเวเฟอร์วงจรรวม" นำมาเข้าเครื่องตัดแยกเป็นชิ้นๆ ซึ่งแต่ละชิ้นมีขนาดตั้งแต่หัวเข็มหมุดไปจนถึงปลายนิ้วก้อย แล้วแต่ประเภท ก่อนที่จะนำไปใส่พลาสติกขึ้นรูปเพื่อให้ลูกค้านำชิ้นไปฝังในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ทำโดยใช้เครื่องจักร ที่ทั้งคอมพิวเตอร์และพนักงานคอยมอนิเตอร์ อยู่ตลอดเวลาว่ามีชิ้นใดที่ชำรุด มีชิ้นส่วน ไม่สมบูรณ์หรือไม่

ก่อนที่จะเข้าสู่เครื่องทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อดูว่าชิปแต่ละตัวที่ผลิตออกมานั้นสามารถทำงานได้ 100% ซึ่งการทดสอบจะทำโดยคอมพิวเตอร์และมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ก่อนที่จะบรรจุลงกล่องส่งให้ลูกค้า โดยทุกแพ็กที่ผลิตจะมีข้อมูลระบุ วันเวลา ลอตที่ผลิต พนักงานที่ควบคุมเพื่อให้ย้อนกลับมาตรวจสอบได้

ที่สำคัญคือในส่วนที่เป็นสายการผลิตชิปที่ใช้ในการระบุเอกลักษณ์ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง บัตรเครดิต บัตรอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเงิน จะมีระบบรักษาความปลอดภัยในระดับสูงมาก โดยจะมีการคัดเลือกพนักงานในสายการผลิต และกำหนดให้บุคคลที่ผ่านการคัดสรรแล้วมีสิทธิเข้าออกในห้องปฏิบัติงาน คลังสินค้าเท่านั้น ซึ่งการเข้าออกแต่ละครั้งจะต้องแสดงตัวให้ระบบบันทึกข้อมูลการเข้าออกทุกครั้ง

กฎเหล็กของโซนนี้คือต้องมาพร้อมกันและกลับออกไปพร้อมกัน เพื่อให้มีคนตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพราะชิปประเภทนี้มีความสำคัญมาก ใช้ในธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยได้อย่างสูงสุด กระบวนการผลิตจึงต้องใช้มาตรฐานการปลอดภัยสูงสุดเช่นกัน เพื่อให้ลูกค้าแน่ใจว่าแม้ชิปจะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด แต่ก็ไม่มีการเล็ดลอดออกไปจากโรงงานให้มิจฉาชีพได้นำไปก๊อบปี้ข้อมูลลูกค้าแน่อน

นายธีโอ ฮาวเดอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ประเทศไทย จำกัด ย้ำว่า แม้จะดำเนินการมากว่า 35 ปีแล้ว แต่โรงงานในไทยยังเป็นโรงงานผลิตชิปชั้นนำระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเครือของเอ็นเอ็กซ์พีที่มีการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพที่ดี ชิปกว่า 10 ล้านชิ้นที่ผลิตได้จะมีมาตรฐานเดียวกับชิปจากโรงงานต่างๆ ทั่วโลกของเอ็นเอ็กซ์พี ที่จะฝังอยู่ในบัตรสมาร์ทการ์ดของธนาคารใน 35 ประเทศ กว่า 500 ล้านใบ และในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกว่า 80% รวมถึงในโทรศัพท์มือถือของโนเกีย คอมพิวเตอร์ของเดลล์ แอปเปิล โซนี่ ในอุปกรณ์ควบคุมการขับขี่ของบีเอ็ม ดับเบิลยูซีรีส์ 7 ปอร์เช่ ฯลฯ

หน้า 26
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02com07300752&sectionid=0209&day=2009-07-30

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ดาราศาสตร์-ศาสตร์แห่งดวงดาว ทำให้มนุษย์รู้จักจักรวาล

ดาราศาสตร์-ศาสตร์แห่งดวงดาว ทำให้มนุษย์รู้จักจักรวาล

Pic_21964

หนึ่งในศาสตร์โบราณ และเป็นวิทยาการที่ได้รับการพัฒนา มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน คือ ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวกับวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า และนอกโลก อันนำไปสู่การไขความลับแห่งจักรวาล

400 ปีที่แล้ว หรือตรงกับ ค.ศ.1609 กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ใช้กล้องโทรทรรศน์ ที่เกิดจากการประดิษฐ์ของเขา ส่องขึ้นสำรวจท้องฟ้า เป็นครั้งแรก ทำให้พบว่าผิวของดวงจันทร์ เต็มไปด้วยหลุมและภูเขา อีกทั้งยังพบดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี และพบว่าดาวศุกร์มีดิถีเช่นเดียวกับดวงจันทร์ของโลก ทำให้การค้นพบดังกล่าว เป็นการปฏิวัติแนวความคิดของมนุษย์ เกี่ยวกับตำแหน่งของโลกในเอกภพ



จาก 400 ปีที่แล้ว ทำให้ปีนี้กลายเป็นปีดาราศาสตร์สากล หลังจากการประชุมทั่วไป ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2003 มีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ปี 2009 เป็นปีดาราศาสตร์สากล ต่อมาในเดือนตุลาคม 2005 องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ลงนามรับรองปีดาราศาสตร์สากล และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2007 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ อย่างเป็นทางการ ให้ปีนี้เป็นปีดาราศาสตร์สากล

นอกจากนี้ ในปี 2009 ยังเป็นการครบรอบ 400 ปี ของการพิสูจน์แนวคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ของนิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ของกาลิเลโอ ช่วยยืนยันแนวคิดของโคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นการเปลี่ยนคติและความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งเป็นแนวคิดของอริสโตเติล

ความมุ่งหมายของปีดาราศาสตร์สากล 2009 คือ การสร้างความตื่นตัวทั่วโลก ให้เกิดความสนใจในดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเน้นที่กลุ่มเยาวชน ภายใต้แนวคิดที่ว่า "เอกภพสัมผัสได้ด้วยตัวคุณ" ขณะที่กิจกรรมจะเน้นลงพื้นที่ ถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละประเทศ จะมีหน่วยงานหลัก ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรม ในปีนี้ และสร้างความร่วมมือระหว่างนักดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และผู้สื่อข่าวทางวิทยาศาสตร์

ดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาของวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด นับตั้งแต่มีมนุษย์อยู่บนโลก โดยเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนอกชั้นบรรยากาศของโลก โดยศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี ทางอุตุนิยมวิทยา และการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า ตลอดถึงการกำเนิด และวิวัฒนาการของเอกภพ



ส่วนดาราศาสตร์ในเมืองไทยนั้น ธงชัย สถาพร เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) บอกว่า มีผู้รู้ทางด้านดาราศาสตร์หลายคน และมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการดาราศาสตร์ ของต่างประเทศ มีความร่วมมือทางวิชาการกับนานาชาติ และผลงานของนักวิชาการไทย ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างองค์รวมของดาราศาสตร์ไทย ที่ชัดเจนได้ ขณะที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเอง ก็เพิ่งก่อตั้งได้เพียงไม่กี่ปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติถูกจัดตั้งขึ้น ตามที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2547 เห็นชอบในหลักการแก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลอง 200 ปี แห่งการพระราชสมภพ ในปี พ.ศ.2547 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ ครบปีพระราชสมภพ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550

ภารกิจหลักอันดับหนึ่งของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ คือ การสร้างหอดูดาวแห่งชาติ ณ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร ศูนย์บริการสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์ควบคุม และรับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมติดตั้ง ในปลายปีนี้ จากนั้นจะให้บริการงานวิจัย และวิชาการแก่ชุมชนได้ ในต้นปีหน้า 

ธงชัย มั่นใจว่า วงการดาราศาสตร์ไทยต่อจากนี้ จะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อหอดูดาวแห่งชาติแห่งนี้สร้างเสร็จ เนื่องจากมีความโดดเด่นในเรื่องกล้องโทรทรรศน์ ที่เตรียมติดตั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการศึกษาดาราศาสตร์ 



"ความพร้อมทางเครื่องมือ จากที่มีแค่กล้องปฏิบัติการ ระดับไม่ถึงครึ่งเมตร กลายเป็น 2.4 เมตร ทำให้การศึกษาสามารถไปไกล ได้ถึงการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ จากเครื่องภายในประเทศ"

อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาอุปกรณ์การศึกษา ทางด้านดาราศาสตร์แล้ว ในเรื่องบุคลากรก็เป็นสิ่งสำคัญควบคู่กัน ธงชัย บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเด็กๆ สนใจดาราศาสตร์มากขึ้นบ้างแล้ว โดยส่วนตัวเขาเอง เรียนจบสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เนื่องจากชอบและคิดว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจ แต่โจทย์สำคัญข้อหนึ่ง คือ เมื่อเรียนจบ จะมีงานทำหรือไม่ ซึ่งเขาคิดว่าเด็กๆ หลายคน ก็ลังเลในส่วนนี้ 

"คนส่วนใหญ่มักคิดว่า จบไปแล้วทำอะไร ถ้าเราเรียนด้วยความรู้สึกที่ว่าเรารักในวิชาชีพนั้นๆ เราย่อมหาทางออกของเราได้เสมอ ... ตอนนี้ กับสี่ปีที่แล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก คือ ตอนนี้ เริ่มมีคนหันมาเรียนดาราศาสตร์ ... เราสามารถให้หลักประกันได้ว่า ถ้าคุณเรียนดาราศาสตร์แล้ว มีผลการเรียนที่น่าพึงพอใจจริงๆ ก็มีโอกาสเข้าร่วมงานกันได้"

ธงชัย ยอมรับว่า การเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา ในประเทศไทย แต่ละครั้ง สามารถกระตุ้นคนไทยให้สนใจดาราศาสตร์ ได้เพียงช่วงระยะของการเกิดปรากฏการณ์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ยังน่ายินดีที่ว่า เมื่อจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านั้น ก็ได้รับการตอบรับที่ดี และมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก แต่การทำนายทางโหราศาสตร์ ที่เกิดจากปรากฏการณ์ ทางดาราศาสตร์นั้น ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล และขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน



สำหรับเด็กๆ ที่ต้องการศึกษาด้านดาราศาสตร์ นอกจากจะต้องชอบด้านนี้ เป็นพื้นฐานแล้ว ธงชัยแนะนำว่า จะต้องเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ในชั้น ม.ปลาย และสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นก็เลือกสาขาฟิสิกส์ แต่ขอให้ตรวจสอบหลักสูตรก่อนว่า มีการสอนดาราศาสตร์มากน้อยเพียงใด เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ต่อข้อถามที่ว่าดาราศาสตร์ดูจะเป็นวิชาที่ยาก และค่อนข้างไกลตัว ธงชัยตอบพร้อมกับรอยยิ้มว่า การศึกษาทุกอย่าง ต้องใช้ความใส่ใจเป็นสำคัญ ดาราศาสตร์ก็เช่นกัน

"เราไม่ต้องจำให้ได้ทั้งหมดว่า ดาวดวงนี้ ชื่ออะไรบ้าง แต่เรารู้ว่าดาวดวงนี้ เป็นดาวประเภทไหน ซึ่งลักษณะทางกายภาพหลายๆ อย่าง จะเป็นตัวบอกว่า เราจะสังเกตได้จากอะไร เราจะเรียนรู้ได้จากอะไร และจะคำนวณได้จากอะไร ... ดาราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างน้อยๆ แค่เราแหงนหน้าขึ้นไป ก็เป็นส่วนหนึ่งของดาราศาสตร์แล้ว และไม่ว่าระบบปฏิทิน หรือระบบต่างๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ สิ่งเหล่านี้มาจากดาราศาสตร์ทั้งนั้น"

... เพียงแหงนมองฟ้า ... สัมผัสถึงการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ... ดาราศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ...

http://www.thairath.co.th/content/edu/21964

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ใช้กล้องถ่ายภาพความไวสูงถ่ายภาพ มนุษย์เปล่งแสงได้

ใช้กล้องถ่ายภาพความไวสูงถ่ายภาพ มนุษย์เปล่งแสงได้

Pic_22219

นักวิทยาศาสตร์แดนปลาดิบเผยคนเราสามารถเปล่งแสงออกมาได้เกือบตลอดทั้งวัน โดยใช้กล้องความไวแสงสูงจะถ่ายติดได้ ระบุแสงเข้มที่สุดตอน 16.00 น. และอ่อนสุดตอน 10.00 น....

นักวิทยาศาสตร์พบด้วยความประหลาดใจว่า ร่างกายมนุษย์ก็เปล่งแสงออกมาได้ เปล่งแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาในปริมาณที่เล็กน้อยมาก ขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวัน

ในการศึกษาวิจัยที่แล้วมา ได้แสดงว่าร่างกายจะส่อง แสงด้วยความเข้มต่ำกว่าที่สายตาจะมองเห็นได้ถึง 1,000 เท่า อันที่จริงแล้ว สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด จะสามารถเปล่งแสง รางๆ เชื่อกันว่าเป็นผลพลอยได้ จากปฏิกิริยาชีวเคมีที่เกี่ยวกับสารอนุมูลอิสระ

นักวิทยาศาสตร์ชาวซากุระ ได้พยายามจะขุดค้นหาความลับเรื่องนี้ โดยใช้กล้องที่มีความไวแสงสูง สามารถถ่ายภาพได้ แม้ด้วยความสว่างเพียงแค่หนึ่งหน่วยโฟตอนเดียว ถ่ายภาพอาสาสมัครชายร่างกายแข็งแรงภายในห้องที่มืดสนิท นานตลอดเวลา 24 ชม.

นักวิจัยได้พบว่า ร่างกายคนเราส่องแสงออกมาได้เกือบทั้งวัน โดยแสงจะอ่อนที่สุดตอน 10.00 น. และเข้มตอน 16.00 น. การค้นพบส่อว่า แสงที่เปล่งออกมา น่าจะขึ้นกับจังหวะของอัตราการเผาผลาญอาหารที่ขึ้นๆลงๆ ตลอดทั้งวัน

นายฮิโตชิ โอกามูรา หัวหน้าทีม มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า การที่แสงของร่างกายเกี่ยวพันกับอัตราการเผาผลาญอาหาร ส่อว่าอาจจะใช้กล้องถ่ายภาพที่สามารถถ่ายติด เป็นเครื่องมือตรวจภาวะอาการทั้งตัวได้.

ทีมข่าววิทยาการ

http://www.thairath.co.th/content/tech/22219

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009