วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"ตะวันดับ"สรรพคราส นานสุดในรอบ 1,000 ปี 22 กรกฎาคม 2552


วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11456 มติชนรายวัน


"ตะวันดับ"สรรพคราส นานสุดในรอบ 1,000 ปี 22 กรกฎาคม 2552


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช




ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน (ภาพโดยวรดิเรก มรรคทรัพย์)
แล้ววันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง!

22 กรกฎาคม พ.ศ.2552 วันที่โลกจะได้บันทึกอย่างเป็นทางการถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงกับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นานถึง 6 นาที 39 วินาที

ปรากฏการณ์ที่ไม่เพียงแต่จะนำความตื่นเต้นมาสู่แวดวงดาราศาสตร์ แต่ยังมีคนอีกครึ่งโลกที่กระตือรืนร้นที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนาทีแห่งประวัติศาสตร์นี้ โดยแนวคราสจะเริ่มที่มหาสมุทรอินเดีย พาดผ่านตั้งแต่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า (เฉพาะส่วนเหนือสุดของประเทศ) ไปจรดชายฝั่งตะวันออกของจีน ก่อนจะไปจบลงที่มหาสมุทรแปซิฟิก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงสนพระทัยปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามานานแล้ว และมักจะเสด็จฯทอดพระเนตรทุกคราที่ทรงมีโอกาส ครั้งนี้ได้เสด็จฯทอดพระเนตรที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

อารี สวัสดี อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ ซึ่งตามเสด็จฯเพื่อถวายคำอธิบายในครั้งนี้บอกว่าได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อม รวมทั้งการส่งทีมงานไปสำรวจพื้นที่ล่วงหน้าที่จินชานเว่ย เมืองท่าเล็กๆ ริมทะเล ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ครั้งนี้ในเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม

"คนที่เซี่ยงไฮ้ปีนี้ตื่นเต้นกันมากๆ เฉพาะเซี่ยงไฮ้มี 20 ล้านคน และยังจีนทั้งกลางประเทศอีกที่จะได้ดู ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่แล้ว เมื่อ พ.ศ.2498 อยู่ที่ประเทศไทย เห็นได้นานถึง 7 นาที ประเทศจีนไม่มีโอกาสได้เห็น มาเห็นในครั้งนี้ และเป็นการเห็นแบบสรรพคราส คือ เงาของดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์จนมิดทั้งดวง โดยที่เซี่ยงไฮ้ดูได้ดีที่สุดและนานที่สุด คือ 5 นาที 51 วินาที"

น่าแปลกที่ในเมืองไทยนั้นดูเหมือนว่า การมาของปรากฏการณ์ที่ไทยเราเรียกว่า "อาทิตย์ดับ" "ราหูอมดวงอาทิตย์" หรือจะเป็น "กบกินตะวัน" ก็ตาม จะถูกดึงความสำคัญไปจับอยู่ที่คำทำนายของบรรดาโหราจารย์ ในทำนองที่ว่า "คราส" นี้จะนำมาซึ่งความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงของบ้านเมือง รวมทั้งเกิดหายนะภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรง และกลายเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ชั่วเวลาข้ามคืน

(ซ้าย) เหนือฟ้าเมืองไทยเช้า 22 ก.ค.2552 (ขวา) อารี สวัสดี - กิจกรรมดูดาวจัดโดยสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย


ขณะที่ในต่างประเทศ อย่างที่ประเทศจีนมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ครั้งนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งห้วงเวลาสำคัญเช่นนี้ยังเป็นโอกาสทองของการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างคึกคัก

บรรดาบริษัทนำเที่ยวน้อยใหญ่ต่างนำเสนอทริปพิเศษ พาไปเที่ยวชมอารยธรรมจีนในแหล่งต่างๆ อาทิ กำแพงเมืองจีน พระราชวังต้องห้าม สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ฯลฯ แล้วไปจบลงที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ได้เต็มดวงและยาวนานที่สุด

หรือถ้าเบื่อเที่ยวทางบก ก็มีทริปทางน้ำ ล่องเรือบนเส้นทางแม่น้ำแยงซีเกียง ไปชมเขื่อนยักษ์ Three Gorges แล้วปิดท้ายรายการด้วยการชมปรากฏการณ์ครั้งสำคัญบนดาดฟ้าเรือเหนือน่านน้ำเมืองเซี่ยงไฮ้

ซึ่งกิจกรรมทางการขายการตลาดเช่นนี้มีการเตรียมการล่วงหน้ากันเป็นเดือนเป็นปี

"ปรากฏการณ์สำคัญที่สุดของจักรวาล ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อีกแล้ว ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่นานที่สุดของมนุษย์ชาติที่จะได้ดูในรอบ 1,000 ปีนี้" อาจารย์อารี กล่าวย้ำ

ที่สำคัญคือ สุริยุปราคาที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 7 โมงเช้า ไปสิ้นสุดที่ 9 โมงเช้า ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม เป็นชุดซารอสที่ 136 ซึ่งเป็นชุดเดียวกับสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2498 ซึ่งเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ครั้งนั้นแนวคราสที่พาดผ่านประเทศไทยสามารถเห็นได้ตั้งแต่จังหวัดกรุงเทพฯ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เห็นนาทีต่อนาทีของราหูที่ค่อยๆ บดบังดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน และยาวนานที่สุดถึง 7 นาที 8 วินาที

บริเวณแนวคราสพาดผ่าน เช้าวันที่ 22 ก.ค.2552


มีนักดาราศาสตร์ชาวต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทยมากมาย เพื่อเฝ้าชมปรากฏการณ์ครั้งนั้น และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย

แล้ว "ซารอส 136" มีความสำคัญอย่างไร ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สุริยุปราคาเกิดจากการที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ซึ่งเมื่อมองจากโลกจะเห็นเงาของดวงจันทร์บดบังอาทิตย์ เรียกว่า การเกิดสุริยุปราคา

ความที่ดวงจันทร์เอียง 5 องศา ฉะนั้น จุดตัดของวงโคจรของพระจันทร์ที่หมุนรอบโลกจะขยับถอยหลังไปเรื่อยๆ กระทั่งวนกลับมาอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม (จุดที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก อยู่ตรงกัน และทำให้เงาดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์) นับเป็นเวลา 18 ปี 11 วันโดยประมาณ เรียกว่า 1 รอบราหู หรือ 1 ซารอส

เหตุนี้ซารอสจึงมีด้วยกันหลายซารอส อย่างสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นชุดซารอสที่ 133 ซึ่งเป็นซารอสชุดเดียวกับที่พระนารายณ์ทอดพระเนตรที่พระตำหนักเย็น จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2231

อาจารย์อารีบอกอีกว่า นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญกับซารอส 136 เพราะเป็นซารอสที่มีอายุยืนมากถึง 1,300 กว่าปี

"การเกิดคราสครั้งนี้นับว่าเกิดเต็มดวงนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพราะหลังจากนี้แม้จะเกิดสุริยุปราคาอีกครั้งก็ไม่มีครั้งไหนที่จะนานเท่านี้อีกแล้ว ซึ่งการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้งนักดาราศาสตร์จะให้ความสำคัญมาก เพราะจะเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาเรื่องของอุณหภูมิ ความดัน สเปคตรัม ศึกษาโคโรน่า ฯลฯ"

ตัวอย่างเช่น การค้นพบจุดดับจุดใหม่บนผิวดวงอาทิตย์ หรือได้ภาพแสดงเปลวก๊าซที่พุ่งสูงจากผิวดวงอาทิตย์เป็นเกลียว ซึ่งเปลวก๊าซนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 3 ล้านองศา ซึ่งนับว่าร้อนกว่าอุณหภูมิของก๊าซที่ผิวดวงอาทิตย์มาก หรือการค้นพบกฎแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของก๊าซ ความดัน และความยาวของเปลวก๊าซ

ปีนี้นอกจากเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งจะเห็นได้ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยจะเห็นนานที่สุด นานถึง 6 นาที 39 วินาที ที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ญี่ปุ่น ปีนี้ยังเป็น ปีดาราศาสตร์สากล ซึ่งนับเป็นเวลา 400 ปีพอดีที่กาลิเลโอค้นพบว่า โลกกลม ซึ่งเป็นการแย้งกับความเชื่อเดิมที่ว่าโลกแบน

ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของดาราศาสตร์สมัยใหม่ก็ว่าได้

สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ ประเทศไทยจะเห็นเพียงบางส่วน โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้ในเวลาที่แตกต่างกัน ภาคเหนือและตอนบนของภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเว้ามากที่สุด

ส่วนที่ กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 07.06 น. เงาดวงจันทร์จะบดบังเต็มที่เวลา 08.03 น. โดยจะบดบังร้อยละ 42.02 และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 09.08 น.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับกับสถาบันอุดมศึกษา 8 สถาบันทั่วประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดกิจกรรม "สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552" เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ไปพร้อมๆ กัน

ใครที่พลาดจากการดูปรากฏการณ์ครั้งนี้ ยังจะได้เห็นอีกครั้งในวันที่ 15 มกราคม 2553 ซึ่งจะเห็นเพียงบางส่วนเช่นกัน

หน้า 20
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น