วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

40 ปี"มนุษย์เหยียบจันทร์" กับความฝันสำรวจจักรวาล

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6809 ข่าวสดรายวัน


40 ปี"มนุษย์เหยียบจันทร์" กับความฝันสำรวจจักรวาล





นีล อาร์มสตรอง ถ่ายภาพบัซ อัลดริน หลังเหยียบดวงจันทร์
วันจันทร์ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี "มนุษยชาติ" สร้างประวัติศาสตร์จารึกรอยเท้าบนดวงจันทร์ ช่วยจุดประกายไฟแห่งความฝันมุ่งหน้าสำรวจห้วงจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลต่อไป แม้มีอุปสรรคมากมายรออยู่ข้างหน้า

โครงการ อพอลโล หรือโปรเจ็กต์ อพอลโล ของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2504 ตามนโยบายประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี้ (เจเอฟเค) ซึ่งต้องการส่งชาวอเมริกันไป "เหยียบ" พื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้ก่อนหน้ามนุษย์อวกาศ "โซเวียต" ชาติปฏิปักษ์สำคัญยุคสงครามเย็น

จุดเริ่มต้นโครงการดังกล่าวอาจเรียกว่าเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม หลังการทดลองยิงแคปซูลยาน "อพอลโล 1" ประสบอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้ ส่งผลให้มนุษย์อวกาศ 3 คนต้องเสียชีวิต ทั้งกัส กริสซัม, เอ็ด ไวต์ และโรเจอร์ เชฟี

การพัฒนาโปรเจ็กต์อพอลโลเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

กระทั่งพบความสำเร็จจนได้ในภารกิจยิงจรวดแซตเทิร์น 5 ส่งยาน "อพอลโล 11" และยานลูกสำรวจดวงจันทร์รหัส "อีเกิ้ล" ออกนอกวงโคจรโลก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2512 พร้อมมนุษย์อวกาศ 3 คน ได้แก่

นีล อาร์มสตรอง ผู้บัญชาการภารกิจ, เอ็ดวิน "บัซ" อัลดริน นักบินยานอีเกิ้ล และไมเคิล คอลลินส์ นักบินยานบังคับการ

พัฒนาการ"ชุดอวกาศ"

(1) ชุดมนุษย์อวกาศยุคแรกของนาซ่า ที่ใช้ใน "โปรเจ็กต์เมอร์คิวรี่" พัฒนาจากชุดนักบินรบ ภายในบุด้วยยางสังเคราะห์นีโอพรีนเคลือบไนลอน ส่วนชั้นนอกทำจากไนลอนผสมอะลูมิเนียม

(2) จอห์น เกล็น สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์อวกาศอเมริกันคนแรกที่สวมชุดอวกาศเมอร์คิวรี่โคจรรอบโลก เมื่อปี 2505

(3) นีล อาร์มสตรอง ว่าที่มนุษย์คนแรกของโลกที่เหยียบดวงจันทร์และผบ.ยานอพอลโล 11 ทดลองสวมชุดอวกาศโครงการ "เจมินี่โปรเจ็กต์" รุ่น "จี-ทูซี"

(5) เอ็ด ไวต์ สวมชุดเจมินี่ ปฏิบัติภารกิจสเปซวอล์ก หรือย่ำอวกาศ นอกตัวยาน "เจมินี่ IV"

(6) ต้นแบบชุดอวกาศของโครงการ "โปรเจ็กต์อพอลโล" ทดสอบปี 2511

(7) อลัน เชพเพิร์ด ผบ.ยานอพอลโล 14 ตรวจสอบชุดอวกาศก่อนออกทำภารกิจเหยียบผิวดวงจันทร์ ปี 2514

(8) บัซ อัลดริน มนุษย์อากาศอพอลโล 11 ลงเหยียบผิวดวงจันทร์ครั้งแรก วันที่ 20 ก.ค. 2512

(9) ชุดอวกาศ "เอสทีเอส-1" สำหรับนักบินกระสวยอากาศ ใส่เพื่อเตรียมพร้อมดีดตัวหนีภัย

(10) ชุดอวกาศสีส้มสำหรับนักบินกระสวยอากาศ คุ้นตากันดีในหนังไซไฟฮอลลีวู้ด

(11) บรูซ แม็กแคนเดิล สวมชุด "MMUs" ติดไอพ่นในอวกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2527

(12) ต้นแบบชุดอวกาศในอนาคตของนาซ่า เตรียมใช้ในภารกิจบินไปกลับดวงจันทร์ปี 2563

(14) ต้นแบบชุดอวกาศสำหรับใช้ชีวิตอยู่บนดวงจันทร์





ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

โครงสร้างยานอพอลโล 11 ประกอบด้วยยานย่อย 3 ส่วน

1.ยานบังคับการโคลัมเบีย 2.ยานบริการ และ 3.ยานอีเกิ้ล ซึ่งออกแบบให้โดยสารได้เพียง 2 คน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2512 นีล อาร์มสตรอง กับบัซ อัลดริน ควบคุมอีเกิ้ลบินเดี่ยวลงจอดยังพื้นผิวดวงจันทร์ตรงจุดที่เรียกว่า "ทะเลแห่งความสงบ" ขณะที่คอลลินส์เฝ้าดูสถานการณ์อยู่บนยานบังคับการ เช่นเดียวกับประชากรทั่วโลกที่รับชมนาทีระทึกผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

โดยเมื่ออาร์มสตรองสร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ เขาได้กล่าวอมตวาจา นั่นคือ

"That"s one small step for a man, One giant leap for mankind."

"นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง, แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"

ปฏิบัติการทดลองและเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ของนีลและอัลดรินผ่านไปอย่างราบรื่น ใช้เวลาราว 2.5 ชั่วโมงก็นำอีเกิ้ลกลับมายังอพอลโล 11 และมนุษย์อวกาศทั้ง 3 เดินทางกลับสู่พื้นโลกโดยปลอดภัยบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ในฐานะวีรบุรุษ

เป้าหมายต่อไป"ดาวอังคาร"

1.ส่ง"อพอลโล 11" สู่อวกาศ
2.ภาพถ่ายโลกจาก อพอลโล 11"
3,4,6.นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน ปักธงชาติสหรัฐอเมริกา และทำการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์
5.ยานอีเกิ้ล บินขึ้นจากผิวดวงจันทร์


40 ปีเต็มหลังวันพลิกประวัติศาสตร์โลกดังกล่าว ดร.บัซ อัลดริน ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงหนึ่งในนโยบายนาซ่าที่ตั้งเป้าส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2563 ว่า

"เราจะกลับไปดวงจันทร์อีกทำไมกันครับ จริงอยู่บางประเทศต้องการไปดวงจันทร์เพื่อเกียรติภูมิของชาติ เพื่อสร้างชื่อว่าเป็นชาติแรกในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งคนไปดวงจันทร์ และต้องการให้นาซ่าลงไปแข่งขันด้วย แต่ไม่มีเหตุผลที่เราต้องทำแบบนั้น"

"เราควรมองไปที่ภารกิจระยะยาวในอวกาศ เช่น บินสำรวจดาวเคราะห์น้อย ตั้งฐานถาวรบนดวงจันทร์ รวมถึงเดินหน้าแผนสำรวจดาวอังคาร เพราะเป็นดาวดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีความเป็นไปได้ในการตั้งนิคมมนุษย์มากที่สุด

"สหรัฐช่วยพาโลกมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์เมื่อ 40 ปีก่อน และมีความสามารถพอจะช่วยพาโลกมุ่งตรงไปสู่ดาวอังคารเช่นกัน สิ่งที่เราต้องการก็คือความมุ่งมั่น เจตจำนงอันแรงกล้า และจินตนาการ"

นอกจากนั้น อัลดรินยังกล่าวสนับสนุนโครงการ "โฟบอส-กรุนต์" ของสำนักงานอวกาศรัสเซีย ซึ่งมีแผนส่ง "หุ่นยนต์" ไปสำรวจและเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคารกลับพื้นโลกภายในปี 2555

เพราะโฟบอสเป็น "ฐานปฏิบัติการ" ที่เหมาะมากสำหรับงานควบคุมงานส่งหุ่นยนต์ก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ บนผิวดาวอังคาร

ฐานคนบนดวงจันทร์

นักวิทยาศาสตร์-นักดาราศาสตร์หลายสถาบันในสหรัฐมองต่างมุมกับอัลดริน

อาทิ ดร.แจ๊ก เบิร์น นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ซึ่งเห็นว่า นับตั้งแต่โครงการอพอลโล 11 เป็นต้นมา มนุษย์ไปดวงจันทร์มาแล้ว 6 ครั้ง แต่รวมเวลาอยู่บนดวงจันทร์ไม่ถึง 13 วัน

องค์ความรู้ทั้งหลายเกี่ยวกับดาวบริวารของโลกดวงนี้จึงยังไม่ลึกซึ้งพอ ทั้งที่การศึกษาดวงจันทร์ชนิดเจาะลึกจะช่วยไขปริศนาต้นกำเนิดระบบ "สุริยจักรวาล" และการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ได้เช่นกัน

ในส่วนของนาซ่าเองขณะนี้ยังพยายามสานต่อนโยบายอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปย่ำดวงจันทร์อีกครั้งไม่เกินปี 2563 โดยเชื่อมั่นว่า การส่งมนุษย์ไปทดลองอาศัย-ใช้ชีวิตถาวรบนดวงจันทร์จะเป็นเหมือน "แบบฝึกหัด" ชั้นเยี่ยมก่อนส่งมนุษย์บุกดาวอังคารต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็มีส่วนขัดขวางความคิดดังกล่าว จึงต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดประธานาธิบดีบารัก โอบามา รวมทั้งสภาสหรัฐ จะตัดสินใจอย่างไรเพราะต้องใช้เงินงบประมาณไม่น้อยเพื่อสานฝันให้เป็นจริง


http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEl4TURjMU1nPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOeTB5TVE9PQ==
หน้า 21


--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น