วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คาร์บอนเครดิต เงินจากฟ้า ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย

วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11467 มติชนรายวัน


คาร์บอนเครดิต เงินจากฟ้า ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย


โดย ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)




การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนนั้น เป็นที่ทราบกันว่ามีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยมาจากกิจกรรมของมนุษย์สู่บรรยากาศมากขึ้น การแก้ปัญหาหรือยับยั้งไม่ให้วิกฤตภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจึงต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากโลก ซึ่งหลักการนี้เป็นที่มาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาที่ให้สัตยาบันต้องดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยร้อยละ 5 ของที่ปล่อยในปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) โดยให้ประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แบบสมัครใจและเมื่อลดได้เท่าใดก็สามารถขายให้ประเทศพัฒนาซึ่งมีพันธกรณีที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเครดิตนำไปหักลบกับส่วนที่ตัวเองต้องลดตามที่ถูกกำหนดข้างต้นได้ นับเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างความหยืดหยุ่นให้ประเทศพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายและเป็นแรงจูงใจให้ประเทศกำลังพัฒนาช่วยลดก๊าซดังกล่าวบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย สิ่งที่มีการซื้อขายกันนี้จึงเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e/yr) และก่อให้เกิดการซื้อขายกันกว้างขวางขึ้นเป็นตลาดสินค้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ตลาดคาร์บอน" ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่านับแสนล้านเหรียญสหรัฐ

"คาร์บอนเครดิต" เป็นสินค้าใหม่ของสังคมโลก ดังนั้น การซื้อขายสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่น่าเชื่อถือและโดยผู้ที่น่าเชื่อถือในการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกและการยืนยันว่ามีการดำเนินการได้จริง ซึ่งพิธีสารเกียวโตกำหนดกลไกนี้ไว้เรียกว่า "กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)" และด้วยหลักการทั้งหมดข้างต้น โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดซึ่งจะพัฒนาไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตนั้น ต้องเข้าข่ายกฎเกณฑ์ต่อไปนี้คือ 1.การดำเนินโครงการมีลักษณะสมัครใจไม่มีข้อบังคับที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก 2.โครงการไม่ใช่กิจการที่ดำเนินงานตามปกติ แต่เป็นการดำเนินโครงการด้วยแรงจูงใจจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Additionality : Not Business as Usual) 3.โครงการเข้าข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับของประเทศเจ้าบ้านที่โครงการตั้งอยู่ และ 4.มีการรับรองและยืนยันโดยกลไกของหน่วยงานของสหประชาชาติ (CDM EB : CDM Executive Board)

สำหรับโครงการที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงการ CDM นั้น พิธีสารเกียวโตกำหนดไว้ 15 ประเภทเช่น อุตสาหกรรมพลังงานซึ่งรวมถึงการจัดการประหยัดพลังงานด้วย อุตสาหกรรมอื่น (ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) การจัดการสารทำละลาย กิจกรรมเหมืองแร่ กิจกรรมการขนส่ง การจัดการของเสีย กิจกรรมการเกษตร และการจัดการป่าไม้ (การปลูกป่า) เป็นต้น กล่าวคือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจด้วยว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไรมีกี่ชนิด ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดแต่พิธีสารเกียวโตกำหนดไว้ 6 ชนิดที่จะสามารถนำมาเข้ากลไกเพื่อพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดและสามารถลดก๊าซเหล่านี้ได้จากกิจกรรมข้างต้น การพัฒนาโครงการ CDM มีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1.ผู้ดำเนินโครงการต้องแจ้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ให้ทราบอย่างเป็นทางการก่อนเริ่มดำเนินงานหรือเริ่มไปแล้วไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเป็นหน่วยงานของประเทศเจ้าบ้านที่รับผิดชอบตามพิธีสารเกียวโต

2.ผู้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำรายงานการออกแบบโครงการ ซึ่งเป็นการศึกษาคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก และการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอื่นๆ

3.เอกสารรายงาน PDD ต้องได้รับการรับรองความถูกต้อง โดยหน่วยงานสากลที่ขึ้นทะเบียนกับสหประชาชาติหรือ CDM EB ซึ่งเรียกหน่วยงานนี้ว่า Designated Operational Entity (DOE) ปัจจุบันยังไม่มีองค์กร/บริษัทไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

4.ในขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินโครงการต้องจัดเตรียมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) พร้อมกับการประเมินดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria : SDC) ตามแนวทางที่ อบก.กำหนดไว้ แล้วส่งเอกสารทั้งรายงาน PDD และ IEE/SDC ให้ อบก.พิจารณาเพื่อให้การรับรอง ซึ่ง อบก.จะออกหนังสือรับรอง (Letter of Approval : LoA) ให้สำหรับดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

5.เมื่อผู้ดำเนินโครงการได้รับการรับรองจาก DOE และ อบก.แล้ว จึงจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนโครงการที่ CDM EB ได้ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

6.เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ดำเนินโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการ ให้เริ่มดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการดำเนินงานและก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการตรวจยืนยัน (Verification) ว่ามีการดำเนินโครงการจริง ลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามที่ระบุในเอกสาร PDD

7.ผู้ดำเนินโครงการจะต้องให้หน่วยงาน DOE เป็นผู้ตรวจยืนยันการดำเนินโครงการ ซึ่งเมื่อ DOE ให้การรับรองยืนยันปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว จะเสนอให้ CDM EB พิจารณาให้การรับรองขั้นสุดท้าย โดย CDM EB จะให้การรับรองเป็น CERs (Certified Emission Reduction) ซึ่งก็คือ "คาร์บอนเครดิต" เมื่อขายให้รัฐบาลประเทศพัฒนาหรือบริษัทในประเทศพัฒนาที่มีพันธกรณีที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในทางปฏิบัตินั้น มักทำสัญญาซื้อขายกันตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่ราคาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับการต่อรองและความเสี่ยงของผู้ซื้อ ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิต ประมาณ ?12.8 ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นนั้น ผู้พัฒนาโครงการจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณ 4-8 ล้านบาทต่อโครงการ แต่ก็มีวิธีรวมโครงการเล็กหลายโครงการเข้าด้วยกันเพื่อแบ่งค่าใช้จ่ายให้แต่ละรายลดน้อยลงได้ซึ่งก็มีกฎกติกากำหนดไว้เช่นกัน

คำถามที่มีมามากจากประชาชนทั่วไปคือการพัฒนาโครงการ CDM ภาคป่าไม้ ซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร ป่าไม้หรือการปลูกป่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจึงเข้าข่ายโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดที่จะพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ แต่เนื่องจากมีผู้ประกอบการในบางประเทศมีเจตนาบุกรุกทำลายป่าเพื่อที่จะนำพื้นที่มาปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิต จึงมีกฎเหล็กของสหประชาชาติสำหรับโครงการประเภทนี้คือ 1.กรณีที่เป็นโครงการฟื้นฟูป่า หรือปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนั้น ต้องพิสูจน์ว่าพื้นที่ที่เสนอเป็นโครงการ CDM ไม่ได้เป็นป่าเมื่อปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) และ 2.กรณีที่เป็นโครงการปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน ต้องพิสูจน์ว่า 50 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ที่เสนอมานั้นไม่เคยเป็นป่า และการที่จะบอกได้ว่าเคยเป็นป่าหรือไม่ก็ต้องเปรียบเทียบกับนิยามป่าไม้ของโครงการ CDM คือ ในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ ถ้ามีใบไม้ปกคลุมเกินร้อยละ 30 หรือมีต้นไม้สูงเกิน 3 เมตร ก็จะถือว่าพื้นที่นั้นเป็นป่าอยู่แล้วไม่สามารนำมาพัฒนาเป็นโครงการ CDM ได้ กล่าวคือ พื้นที่ที่จะปลูกป่าเพื่อพัฒนามาขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น ในปัจจุบัน (ขณะที่เสนอโครงการ) จะต้องมีใบปกคลุมในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ไม่เกินร้อยละ 30 และมีต้นไม้สูงไม่เกิน 3 เมตร ป่าไม้สามารดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1-6 ตันต่อไร่ หรือมากกว่า ขึ้นกับชนิดของพันธุ์ไม้ ป่าชายเลนจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบก 3-4 เท่า การพัฒนาโครงการ CDM ป่าไม้อาจต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างสูงจึงจะคุ้มทุน มีการตรวจยืนยันทุก 5 ปี การปลูกป่าในพื้นที่ขนาดเล็กหรือมีต้นไม้สูงเกิน 3 เมตรแล้วหรือเป็นพื้นที่สวนป่านั้นมักไม่ผ่านเงื่อนไขข้างต้น จึงนิยมขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจที่ไม่มีกฎเกณฑ์ดังกล่าว แต่ก็มีมาตรฐานที่ใช้ในการรับรองโครงการเช่นกันขึ้นกับผู้ซื้อว่าจะใช้มาตรฐานใดและตลาดสมัครใจมีราคาค่อนข้างต่ำกว่ามาก ซึ่งจะได้นำมาเล่าให้ทราบในตอนต่อไป


หน้า 9
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way02020852&sectionid=0137&day=2009-08-02
                           

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.narit.or.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.momypedia.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://icann-ncuc.ning.com
http://www.webmaster.or.th
http://weblogcamp2009.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น