วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กว่าจะเป็น "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด"

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4127  ประชาชาติธุรกิจ


กว่าจะเป็น "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด"


รายงาน




คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้กระเป๋าสตางค์ของหลายๆ คนเต็มไปด้วยสมาร์ทการ์ดหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ ทั้งบัตรประชาชน บัตรเครดิต บัตรโดยสาร รถไฟฟ้า แม้แต่บัตรพนักงาน บัตรนักศึกษา บัตรเอทีเอ็ม ของหลายๆ คนก็ฝังชิปอัจฉริยะที่ช่วยอัพเกรดบัตรพลาสติกธรรมดาๆ ให้กลายเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้สารพัดอย่าง

เมื่อชิปตัวเล็กๆ ที่ถูกฝังอยู่ในบัตรคือหัวใจสำคัญของความเป็นสมาร์ทการ์ด วันนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" จะพาไปดูต้นกำเนิดของชิปตัวเล็กๆ ตัวนี้ ที่โรงงานของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในสาขาของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี โดยเริ่มมีต้นกำเนิดจากบริษัท ฟิลิปส์ เซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก และในปีที่แล้วมี ยอดขาย 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในประเทศไทยได้มาตั้งโรงงานและดำเนินกิจการ 35 ปีแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นโรงงานประกอบและทดสอบที่ใหญ่สุดของเอ็นเอ็กซ์พี ผลิตชิปแต่ละปีกว่า 10 ล้านชิ้น สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสารและการระบุเอกลักษณ์ตัวตน (identification applications) ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ผลิตชิปสำหรับบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดให้คนไทยได้ใช้กัน

สำหรับโรงงานของเอ็นเอ็กซ์พีในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่แยกหลักสี่ เป็นโรงงานที่ผลิตตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้พนักงานกว่า 3,200 คน ปฏิบัติงานสับเปลี่ยนกันไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะทำในห้องที่ไร้ฝุ่น ปลอดจากกระแสแม่เหล็กทุกชิ้น ทุกคนที่จะเข้าไปในห้องนี้ต้องใส่ชุดหมีคลุมตั้งแต่ หัวจรดเท้า ที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษที่ไม่นำกระแสไฟฟ้าและแม่เหล็ก พร้อมใส่หน้ากากและรองเท้าหุ้มข้อชนิดพิเศษเช่นกัน ซึ่งก่อนจะเข้าสู่ห้องที่ปฏิบัติงาน ทุกคนต้องเข้าไปในห้องเป่าลมไล่ฝุ่นละอองออกจากตัวให้หมด เพื่อไม่ให้เศษฝุ่นผงเข้าไปทำอันตรายกับชิปตัวเล็กๆ ที่เป็นหัวใจของสมาร์ทการ์ด และแน่นอนที่สุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เต็มไปด้วยกระแสไฟและ แม่เหล็กอย่างโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งต้องห้ามในกระบวนการผลิตนี้

ขั้นตอนการผลิตของโรงงานแห่งนี้คือจะรับแผ่นไอซีที่ผลิตจากโรงงานในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ซึ่งผลิตออกมาเป็นแผงขนาดใหญ่รวมไอซีเป็นร้อยเป็นพันตัวไว้ใน 1 แผ่น ที่เรียกว่า "แผ่นเวเฟอร์วงจรรวม" นำมาเข้าเครื่องตัดแยกเป็นชิ้นๆ ซึ่งแต่ละชิ้นมีขนาดตั้งแต่หัวเข็มหมุดไปจนถึงปลายนิ้วก้อย แล้วแต่ประเภท ก่อนที่จะนำไปใส่พลาสติกขึ้นรูปเพื่อให้ลูกค้านำชิ้นไปฝังในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ทำโดยใช้เครื่องจักร ที่ทั้งคอมพิวเตอร์และพนักงานคอยมอนิเตอร์ อยู่ตลอดเวลาว่ามีชิ้นใดที่ชำรุด มีชิ้นส่วน ไม่สมบูรณ์หรือไม่

ก่อนที่จะเข้าสู่เครื่องทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อดูว่าชิปแต่ละตัวที่ผลิตออกมานั้นสามารถทำงานได้ 100% ซึ่งการทดสอบจะทำโดยคอมพิวเตอร์และมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ก่อนที่จะบรรจุลงกล่องส่งให้ลูกค้า โดยทุกแพ็กที่ผลิตจะมีข้อมูลระบุ วันเวลา ลอตที่ผลิต พนักงานที่ควบคุมเพื่อให้ย้อนกลับมาตรวจสอบได้

ที่สำคัญคือในส่วนที่เป็นสายการผลิตชิปที่ใช้ในการระบุเอกลักษณ์ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง บัตรเครดิต บัตรอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเงิน จะมีระบบรักษาความปลอดภัยในระดับสูงมาก โดยจะมีการคัดเลือกพนักงานในสายการผลิต และกำหนดให้บุคคลที่ผ่านการคัดสรรแล้วมีสิทธิเข้าออกในห้องปฏิบัติงาน คลังสินค้าเท่านั้น ซึ่งการเข้าออกแต่ละครั้งจะต้องแสดงตัวให้ระบบบันทึกข้อมูลการเข้าออกทุกครั้ง

กฎเหล็กของโซนนี้คือต้องมาพร้อมกันและกลับออกไปพร้อมกัน เพื่อให้มีคนตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพราะชิปประเภทนี้มีความสำคัญมาก ใช้ในธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยได้อย่างสูงสุด กระบวนการผลิตจึงต้องใช้มาตรฐานการปลอดภัยสูงสุดเช่นกัน เพื่อให้ลูกค้าแน่ใจว่าแม้ชิปจะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด แต่ก็ไม่มีการเล็ดลอดออกไปจากโรงงานให้มิจฉาชีพได้นำไปก๊อบปี้ข้อมูลลูกค้าแน่อน

นายธีโอ ฮาวเดอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ประเทศไทย จำกัด ย้ำว่า แม้จะดำเนินการมากว่า 35 ปีแล้ว แต่โรงงานในไทยยังเป็นโรงงานผลิตชิปชั้นนำระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเครือของเอ็นเอ็กซ์พีที่มีการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพที่ดี ชิปกว่า 10 ล้านชิ้นที่ผลิตได้จะมีมาตรฐานเดียวกับชิปจากโรงงานต่างๆ ทั่วโลกของเอ็นเอ็กซ์พี ที่จะฝังอยู่ในบัตรสมาร์ทการ์ดของธนาคารใน 35 ประเทศ กว่า 500 ล้านใบ และในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกว่า 80% รวมถึงในโทรศัพท์มือถือของโนเกีย คอมพิวเตอร์ของเดลล์ แอปเปิล โซนี่ ในอุปกรณ์ควบคุมการขับขี่ของบีเอ็ม ดับเบิลยูซีรีส์ 7 ปอร์เช่ ฯลฯ

หน้า 26
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02com07300752&sectionid=0209&day=2009-07-30

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น